“สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี พ.ศ. 2559”

สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย 2559

รัฐบาลตั้งเป้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 50% ภายในปี 2564 สสส.จับมือกพย.ทำงานร่วมกับ สธ.พัฒนาเครือข่ายใช้ยาปฏิชีวนะถูกโรคถูกวิธี เปิด 3 โรค ยอดฮิตความเชื่อที่ผิดใช้ยาปฏิชีวนะ“หวัด-ท้องเสีย-บาดแผล”ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ถอดส่วนผสมสารเคมีฆ่าเชื้อในเครื่องสำอาง-แชมพู-สบู่ เหตุมีความเสี่ยงให้เกิดเชื้อดื้อยา

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าวสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนและยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงปีละ 46,000 ล้านบาทจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรอบการทำงานร่วมกันในการลดป่วย ลดตาย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564ที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลง 30% ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น 20% และระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ไม่ต่ำกว่าระดับ 4

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพว่า ต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย และในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดรับฟังความเห็นในการยกเลิกรายการยาต้านจุลชีพจากการเป็นยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะต้องมีประกาศปรับประเภทยาต้านจุลชีพ 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ควบคุมการผลิต ขาย ใช้ ยาผสมลงในอาหารสัตว์ 1 ฉบับ

            ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาลรองผู้จัดการสสส. กล่าวว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่งและยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ24-46วัน สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล โดยพฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินตามคนอื่น หยุดรับประทานยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการดีขึ้น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ครั้งก่อนๆ ใช้ยาอมที่ผสมยาปฏิชีวนะ สสส.จึงสนับสนุนกพย.ในการพัฒนาชุดความรู้และเครือข่ายเฝ้าระวังเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนการดื้อยาต้านจุลชีพตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกร่วมกับประเทศต่างๆและในปีนี้ได้เสริมทัพการทำงานด้วยการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกร ด้วยการจัดทำสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาที่เข้าใจง่าย เช่น หยุด 10 พฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงชุดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกโรคถูกวิธีโดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://atb-aware.thaidrugwatch.org  และ https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness

            ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 14-20 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559 ในส่วนของประเทศไทย กพย.ได้สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ในปีนี้ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลทั้งในคนและในการเกษตร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี ได้สร้างปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนอาจถึงขั้นวิกฤตกพย.จึงทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมากกว่า 30จังหวัด รวมถึงในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลพร้อมกับสนับสนุนการวิจัยผู้ป่วยหวัดและท้องเสียในเด็กซึ่งพบว่ายาต้านแบคทีเรียไม่มีผลกระทบต่อการรักษาและได้ผลที่ดีกว่า การทำงานร่วมกับเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภค รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งล่าสุดสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดอบรมบุคลากรภายในสถาบัน เช่น อาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ เภสัชกร ถึงทักษะในการสื่อสารเมื่อถูกผู้ปกครองกดดันให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเด็กโดยไม่จำเป็น และมีการทำพื้นที่ตัวอย่างชุมชนปลอดภัยห่างไกลยาต้านแบคทีเรียในร้านชำ ร่วมกับผู้นำชุมชนอสม. และโรงเรียน ในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรีและอ.โนนคูณ จ.ศรีสะเกษ ทำให้ภาพรวมในขณะนี้มีความตื่นตัวมากขึ้นทั้งในประชาชน แพทย์และเภสัชกร

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และ RDU Hospital Projectกล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ 1.โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2.ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ และ3.บาดแผลทั่วไป ทำให้ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่าโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบ  สยส.จึงรณรงค์ให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องว่า การใช้ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกกันอย่างผิดๆว่ายาแก้อักเสบในโรคติดเชื้อไวรัส ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษ และเน้นรณรงค์เพื่อแก้ไขความเชื่อที่ผิด เช่น “น้ำมูกเหลืองเขียวหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย” “เมื่อไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อยก็ซื้อยาแก้อักเสบมากินกันไว้ก่อน” หรือ “ไข้สูง ปวดเมื่อยมากควรฉีดยา”ซึ่งล้วนส่งผลซ้ำเติมปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น  ในขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือ RDU Hospital เพื่อปรับลดอัตราการสั่งยาปฏิชีวนะใน 3 โรคข้างต้นของบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่นสั่งยาปฏิชีวนะได้ไม่เกิน 2 ใน 10 ราย กรณีโรคหวัดและท้องร่วง เป็นต้น ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนความรู้และความเชื่อทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการเพื่อแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาของประเทศ

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ขอเสนอให้เร่งรัดการเพิกถอนทะเบียนตำรับยา รูปแบบยา และข้อบ่งใช้ที่ไม่เหมาะสมต่างๆ เช่น ยาอมผสมยาต้านแบคทีเรียเพราะไม่ได้ผลในการรักษาและทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย  ยกเลิกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทสบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน เจลล้างมือที่ผสมสารเคมีฆ่าเชื้อ ได้แก่ ไตรโคลซานและสารอื่นๆ อีก 18 ชนิด ที่มีรายงานวิจัยยืนยันแล้วว่าสารเหล่านั้นทำให้เชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียเมื่อใช้เป็นเวลานาน ซึ่งองค์การอาหารและยา(FDA) แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้แล้ว นอกจากนี้ เครือข่ายผู้บริโภคขอเรียกร้องให้รัฐมีการควบคุมการใช้ยาต้านแบคทีเรียในปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการเกษตร ให้ใช้ยาได้เฉพาะการรักษาโรคเท่านั้น ห้ามใช้เพื่อการป้องกัน และเร่งการเจริญเติบโต และห้ามการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์ลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการบำบัด รวมถึงต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาต้านแบคทีเรียแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET)กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลในเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ได้รณรงค์การใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างจริงจังจึงมีมาตรการสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาเหล่านี้เมื่อมีข้อบ่งชี้และเท่าที่ความจำเป็นเท่านั้น  ดังนั้นหากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ไม่ใช่โรคติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็ไม่ควรสั่งยาต้านแบคทีเรียให้แก่ผู้ป่วย

นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2559– 2561 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมโดยสช.ซึ่งเป็นฝ่ายประสาน สนับสนุนการขับเคลื่อนจะทำการติดตามการดำเนินงานตามมตินี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะได้ทราบต่อไป

พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หากมีการรักษาและใช้ยาเท่าที่จำเป็นจะทำให้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอลดน้อยลง ซึ่งกลวิธีที่ทำให้เกิดการรักษาเท่าที่จำเป็นมากที่สุดคือการเหมาจ่ายรายหัว