สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ปี พ.ศ. 2559

สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย[1]ปี พ.ศ. 2559

นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี

ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)

 

“…มีหลายอย่างด้วยกันนะ G77 ที่ประเทศเราเดินหน้าปีเดียวนะก็เป็นผลสำเร็จได้มากพอสมควร ดื้อยานี่ถ้าสมมติเราใช้ไปมากเรื่อยๆ ไม่ควบคุม วันหน้าต้องใช้ยาแรงขึ้นๆ ราคาก็สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ไม่เพียงพอ บางคนกินยาปฏิชีวนะแล้วกินไม่ครบ พอหายก็เลิกกิน เลิกทาน เขามีระยะเวลาให้ทานต่อไปจนครบ ต้องกินให้ครบจำนวนและขนาด ตามเวลาที่แพทย์เขาสั่งไว้ ไม่ฉะนั้นจะดื้อยา พอคราวหน้าก็กินไม่หาย แนวโน้มของคนไทยในการใช้ยาฆ่าเชื้อมีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ถ้าลดตรงนี้ไปได้ ค่าใช้จ่ายจะลดลง …”

          พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดถึงการเดินทางมาเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559 เวลา 20.15 น. 

ความเป็นมา

จากปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ลุกลามไปทั่วโลก จนเกิดผลกระทบผู้คนล้มตายจากเชื้อที่ดื้อยา (ประมาณว่าเสียชีวิตอย่างน้อย700,000 ราย ต่อปี) เพราะการใช้ยาต้านแบคทีเรียที่ไม่ถูกต้องคือตัวเร่งให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาเร็วขึ้น  ทำให้ยาที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล  และไม่สามารถหายาใหม่มารักษาได้ทันการ  มีผู้ประมาณการว่า ในปี พ.ศ. 2593 อาจมีการล้มตายจากเชื้อดื้อยากันถึง 10 ล้านคน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ที่ทวีปเอเซีย และอาฟริกา

จึงเกิดมีมาตรการทางนโยบายในหลายองค์การระหว่างประเทศ เช่นองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2557 มีการจัดทำรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลกมีมติสมัชชาอนามัยโลก หลายครั้ง รวมถึงการรับรองGlobal Action Plan และนอกจากนี้มีการออกนโยบายด้านการจัดการเชื้อดื้อยาในประชาคมยุโรป ในประเทศสำคัญๆและในที่ประชุมเครือข่ายนานาชาติล่าสุดคือ การประชุม High Level Meeting ของสมัชชาสหประชาชาติ ได้หยิบเรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ มาเป็นวาระสำคัญ

มีองค์กรที่ทำงานเชิงวิชาการ เช่นWorld Economic Forum เมื่อปีพ.ศ.2556มีการจัดประชุม และทำรายงานระบุว่าการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโลก และมีบทความย้ำปัญหาอีกครั้งในปีนี้  ส่วน ReActเป็นองค์กรวิชาการที่รณรงค์เรื่องเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย จากมหาวิทยาลัยอุปซาลา สวีเดน

มีการริเริ่มการรณรงค์ในสังคมมากมายเพื่อสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์และผลกระทบดังกล่าว กระตุ้นกระแสตื่นตัวเพื่อให้ทุกคนหันมาสนใจและเข้าร่วมแก้ไขป้องกัน  ซึ่งมีการรณรงค์ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และขยายการมีส่วนร่วมไปเรื่อย ๆ คือการรณรงค์Antibiotics awareness day ที่กำหนดเป็นวันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี เริ่มต้นครั้งแรก ในยุโรป[2] เมื่อปีพ.ศ.2551โดยการประสานงานของEuropean Center for Diseases Prevention and Control ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เพื่อสนับสนุนประเทศที่เข้าร่วมการรณรงค์ด้วยการจัดทำเครื่องมือที่มีหลักฐานทางวิชาการ และด้วยการสนับสนุนทั้งทางเทคนิคและทางนโยบายเพื่อสร้างความตระหนักของสังคมต่อเรื่องปัญหาการดื้อยา และความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียที่สมเหตุผลอย่างมีความรับผิดชอบ  ต่อมากิจกรรมขยายไปหลายประเทศในยุโรป และทั่วโลก และเมื่อปีพ.ศ.2558องค์การอนามัยโลก ประกาศให้เป็น antibiotics awareness week  (กพย.ใช้ว่า สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย)เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเรื่องเชื้อดื้อยาของโลกและเริ่มขยายไปทั่วโลก โดยในปีพ.ศ.2559 นี้กำหนดระหว่าง 14-20 พฤศจิกายน

ในส่วนของประเทศไทยปีนี้ มีกำหนดการวันที่ 18 พฤศจิกายน เป็นการร่วมจัดงานที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประกอบด้วยภาคีที่หลากหลาย ประสานงานโดยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำในลักษณะดาวกระจายไปทั่วประเทศร่วมกับภาคีเช่นมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

กพย และภาคี.เริ่มจัดงาน วันรู้รักษ์ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาต้านแบคทีเรีย) เมื่อพ.ศ. 2556 ดังนั้นปีนี้จึงเป็นปีที่ 4  ของการดำเนินงานที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีมีประเด็นเฉพาะที่แตกต่างกันโดยปีแรก เน้นที่เด็ก  ปีที่สองคือการสร้างเครือข่ายกับในอาเซียน ปีที่สามคือการเริ่มขยายสู่ประชาชนและสังคมวงกว้าง  ปีนี้เน้นการสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วน โดยหนุนสร้างความเข้มแข็งความเข้าใจของประชาชน

 

สถานการณ์การดื้อยาทั่วโลก และผลกระทบทั้งด้านสาธารณสุข ด้านเกษตร และด้านสิ่งแวดล้อม

องค์การอนามัยได้รวบรวมสถานการณ์การดื้อยาต้านแบคทีเรียทั่วโลก ในปี 2014 และเริ่มมีการรายงานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องประมาณการณ์ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกว่าอาจมากกว่า700,000 รายต่อปี และหากไม่มีมาตรการที่เร่งด่วน เข้มงวด จัดการที่ขัดเจน  คาดว่าในปีพ.ศ.2593จะมีผู้เสียชีวิตถึง ปีละ 10 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับมะเร็งรวมกับเบาหวาน อุบัติเหตุ และท้องร่วง   และพบว่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่เอเซียและอาฟริกา รวมกันถึงเกือบ9 ล้านคน ตามแผนภาพ ที่ 1 และมีมูลค่าความเสียหายถึง 3,500 ล้านล้านบาท

ภาพที่ 1. คาดการณ์การตายจากเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียต่อปี เมื่อถึงพ.ศ.2593

amr01

แหล่งข้อมูล: Review on Antimicrobial Resistance:Tackling a crisisfor the health andwealth of nations- The Review on Antimicrobial ResistanceChaired by Jim O’Neill, December 2014

 

จากรายงานการทำแผนที่การดื้อยาทั่วโลก(Resistance Map)[3]จัดทำโดย CDDEP (The Center for Diseases Dynamics, Economic & Policy)  มีระบุรายประเทศ เปรียบเทียบ ประเทศที่พบการดื้อยาในอัตราที่สูงของโลกในเชื้อที่แตกต่างกันไป เช่น อินเดีย เม็กซิโก อาร์เจนตินา เคนยา เบลารุส ในขณะที่หลายประเทศไม่มีขอมูล เพราะอาจไม่มีระบบการติดตามที่เข้มแข็ง

มีกรณีศึกษาของการเกิดเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย ชนิดรุนแรงสองครั้งที่ควรได้ทำความเข้าใจ รายแรกเกิดเมื่อปีพ.ศ. 2551 มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่มาทำการผ่าตัดรักษาที่ประเทศอินเดีย  แล้วพาเชื้อดื้อยาที่รุนแรงมากกลับไปยุโรป ก่อให้เกิดการแพร่จนมีผู้เสียชีวิตมาแล้ว สายพันธุกรรมการดื้อยามีชื่อว่าNDM-1 gene(New Delhi Metallo-beta-lactamse-1 gene) ความน่ากลัวคือเชื้อชนิดนี้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิดมากรวมถึงยา กลุ่ม Carbapenems ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียกลุ่มท้าย ๆ จนแทบจะหายามารักษาไม่ได้ต่อมาพบรายงานสายพันธุกรรมนี้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย และสายพันธุกรรมนี้สามารถแพร่จากแบคทีเรียต่างสายพันธ์ได้ด้วยวิธี Horizontal Gene Transfer

กรณีการดื้อยาต้านแบคทีเรียที่รุนแรงอีกรายงาน ที่เพิ่งค้นพบปลายปีพ.ศ. 2558คือการค้นพบสายพันธุกรรมการดื้อยาที่ชื่อ MCR-1 ในฟาร์มหมูในประเทศจีน  เป็นการดื้อต่อยาโคลิสติน (โพลีมิกซิน อี) และการดื้อสามารถส่งต่อผ่านสายพันธุกรรมแบบข้ามสายพันธ์แบคทีเรีย (Horizontal Gene Transfer) ซึ่งเดิมเคยพบการดื้อต่อโคลิสตินมาแล้ว แต่เป็นลักษณะส่งต่อลูกหลานในสายพันธ์เดิม (Vertical Gene Transfer) การค้นพบการดื้อแบบใหม่นี้สร้างความตระหนกไปทั่วโลก มีการศึกษาและรายงานมามากมาย ทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อเมริกาใต้ ยุโรป เอเซีย  เป็นการพบในคนและในหมู รวมทั้งในผัก และยังพบการส่งต่อระหว่างสัตว์กับคนและคนกับสัตว์ ด้วย

 

สถานการณ์การใช้ยาต้านแบคทีเรียของไทย (ในคน ในการเกษตร และในสิ่งแวดล้อม)

มีการศึกษาประมาณการณ์ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาในไทย พบว่าอยู่ระหว่าง 20,000-38,000 รายต่อปี (ขึ้นกับวิธีศึกษา)จากยอดผู้ติดเชื้อดื้อยา ถึงกว่า 88,000 รายต่อปี ตัวเลขการเสียชีวิตนี้น่าเป็นห่วง เพราะใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรมากกว่า 5 เท่า(23,000 รายต่อปี จากประชากร 320ล้านคน) หรือประชาคมยุโรป (25,000 รายต่อปี จากยอดประชากร 500 ล้านคน)   ในประเทไทยเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทางตรง และทางอ้อม ไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

จากรายงานของ CDDEP[4] ชี้ว่า เชื้อ A.baumannii ที่มักพบในโรงพยาบาลนั้นดื้อต่อยาปฏิชีวนะทั้ง 4 ตัวที่ตรวจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 และมีอัตราการดื้อสูงอย่างต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2557 สรุปผลการดื้อได้ดังนี้ Carbapenems 61% Aminoglycosides 59% fluoroquinolones 56% Amikacin 50%

ในปี พ.ศ.2557 เชื้อ E.coli ดื้อต่อยา Fluoroquinolone 45% และดื้อต่อยา aminopenicillins ถึง85%

อย่างไรก็ดี ปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ได้จำกัดเฉพาะในโรงพยาบาล แต่มีผลกระทบกับเราในทุกภาคส่วน ทั้งกับคนจากการกินยาและ การจัดการที่ไม่ถูกต้อง ในโรงพยาบาลและแหล่งกระจายที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย  ยาต้านแบคทีเรียชนิดรับประทานหรือฉีด ห้ามขายที่ร้านขายยาประเภท ขย 2 ร้านชำ ตลาดนัด หรือร้านค้าอุปกรณ์เกษตร ซึ่งพบได้ทุกที่ในประเทศไทย  มีการใช้ยาต้านแบคทีเรียในด้านเกษตร ทั้งปศุสัตว์ ประมง และใช้ในการปลูกพืชโดยตรง (พืชผักผลไม้บางชนิด)การใช้มูลสัตว์จากฟาร์มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นปุ๋ยรดต้นไม้  ปัญหาการตกค้างของยาต้านแบคทีเรีย ของเชื้อดื้อยา และของสารพันธุกรรมการดื้อยาลงสู่วิ่งแวดล้อมได้จากทุกทาง ก่อให้เกิดปัญหาและมากระทบต่อ ความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกลับมากระทบต่อคนทั้งทางด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ

ภาพที่ 2 เชื้อดื้อยาในชีวิตประจำวันของเรา

เชื้อดื้อ้ยาในชีวิตประจำวัน
เชื้อดื้อ้ยาในชีวิตประจำวัน

แหล่งข้อมูล: แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สสส FB: Antibiotic Awareness Thailand

 

กพย.และการณรงค์เรื่องการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย

กพย.เริ่มให้ความสำคัญปัญหาเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุสมผลมาตั้งแต่พ.ศ. 2552 เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ จัดทำกิจกรรมมากมายทางนโยบาย  เช่นการจัดทำรายงานสถานกรณ์ระบบยา ปี 2553 การขยายผลการทำงานโครงการ  ASUและการทำงานกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเสนอวาระจนได้เกิดมติสมัชชาสุขภาพ ปี 2558 เรื่อง วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการนอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม อบรมเพื่อพัฒนาสื่อหลายชิ้น (วิดิทัศน์ infographic ละครหุ่น ลิเก) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ กระตุ้นความตระหนัก พิมพ์หนังสือเด็กประกอบการอ่าน และเล่านิทาน 2 เล่ม ได้รับความนิยมสูง คือ กุ๊กไก่เป็นหวัด และ กระจิบท้องเสีย  สื่อและสิ่งพิมพ์ทั้งหมดสามารถ download ได้ที่ FB: Antibiotic Awareness Thailand และ FB: Thai Drug Watch

กุ๊กไก่เป็นหวัด
หนังสือนิทาน “กุ๊กไก่เป็นหวัด”
กระจิบท้องเสีย
หนังสือนิทาน “กระจิบท้องเสีย”

ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

ประชาชนคือผู้ได้รับกระทบตรงจากเชื้อดื้อยา เพราะเป็นผู้ป่วย จึงเป็นบทบาทของประชาชนทุกคนที่จะมีส่วนร่วมแก้ไขและป้องกันการเกิด แพร่ และรับเชื้อดื้อยาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  1. ดูแลสุขภาพเบื้องต้น กระตุ้นภูมิต้านทาน ไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ ไม่แพร่หรือรับเชื้อ
  2. ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังออกจากห้องน้ำ หรือหลังมาจากภายนอกบ้าน ทุกครั้งให้เป็นนิสัย
  3. ไม่ซื้อยาต้านแบคทีเรียกินเองจากร้านชำ ตลาดนัด ขย 2 รวมทั้งไม่ซื้อให้สัตว์เลี้ยง หรือใช้ในการเกษตร โดยไม่ปรึกษาบุคลากรสุขภาพ
  4. ไม่เรียกร้องขอยาต้านแบคทีเรียจากบุคลากรสุขภาพ
  5. หากได้รับการสั่งยาต้านแบคทีเรียขอให้ปรึกษาบุคลากร ถึงความจำเป็น เล่าอาการให้ครบถ้วน ถามวิธีใช้ การแพ้ยา (พบได้บ่อย) การปฏิบัติตน
  6. ถ้าได้รับยาต้านแบคทีเรียต้องรับประทานยาตามคำสั่งจนครบจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด แม้อาการจะดีขึ้นไม่เก็บยาไว้ใช้ต่อไป ไม่แบ่งให้คนอื่นกินหากแพ้ยาต้องรีบพบแพทย์หรือเภสัชกรทันที นำยาไปด้วย
  7. โรคสามโรคที่มักเข้าใจผิดในการใช้ยา เพราะไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย จึงไม่มีประโยชน์ในการใช้ยาต้านแบคทีเรีย ไม่ได้ผล ได้แก่
    1. หวัดไอ คอแดง แต่ไม่มีจุดหนอง ในคอบริเวณต่อมทอนซิล เป็นการติดเช้อที่ระบบทางเดินหายใจตอนบนที่เกิดจากไวรัส
    2. ท้องเสียธรรมดาไม่บวดเบ่ง ไม่มีมูกเลือด ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย
    3. บาดแผลสะอาด แค่ทำแผล ทาน้ำยาทำความสะอาดภายนอกก็พอไม่ต้องกินยาต้านแบคทีเรีย
  8. ร่วมกล่มชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยกันเฝ้าระวังชุมชนไม่ให้มีการขายยาต้านแบคทีเรียที่ผิดกฎหมาย ติดตามปัญหาในชุมชน

 

แหล่งข้อมูลประกอบ

คณะกรรมการประสานงานและบูรณาการงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ (2558) ภูมิทัศน์ของสถานการณ์และการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย, พิมพ์ที่สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์

แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (2553) รายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2553 สถานการณ์เชื้อดื้อยาและปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ, ISBN 978-616-551-422-4, พิมพ์ที่อุษาการพิมพ์

ภานุมาศ ภูมาศ และคณะ (2555)ผลกระทบด้านสุขภาพและเศษฐศาสตร์จากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย: การศึกษาเบื้องต้น  วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข  6(3): 352-360.

http://resistancemap.cddep.org/AntibioticResistance.php

http://ecdc.europa.eu/en/EAAD/Pages/Home.aspx

http://www.who.int/mediacentre/events/2015/world-antibiotic-awareness-week/event/en/

http://www.cdc.gov/getsmart/week/overview.html

http://www.thaidrugwatch.org/printout03.php

[1]ในบทความนี้ใช้คำว่ายาต้านแบคทีเรีย ซึ่งคำเดิมใข้ว่ายาปฏิชีวนะ แต่ภาษาต่างประเทศยังคงใช้ทับศัพท์ antibiotics

[2]http://ecdc.europa.eu/en/EAAD/Pages/Home.aspx

[3]http://resistancemap.cddep.org/AntibioticResistance.php

[4]http://resistancemap.cddep.org/AntibioticResistance.php